วิทยุออนไลน์

จ.มหาสารคาม เร่งทำความสะอาดถนน ฟื้นฟูสถานที่ และช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย หลังน้ำลด พร้อมเตรียมการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง

     ที่ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.มหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์  ตรงศิริ  ผวจ.มหาสารคาม เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 26 พ.ย.2564 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.โกสุมพิสัย 13 ตำบล 117 หมู่บ้าน,อ.กันทรวิชัย 6 ตำบล 60 หมู่บ้าน,อ.เมืองมหาสารคาม 5 ตำบล 44 หมู่บ้าน,อ.เชียงยืน 4 ตำบล 22 หมู่บ้าน,อ.กุดรัง 1 ตำบล 4 หมู่บ้าน ,ที่นา 126,344 ไร่ ไม่มีพื้นที่ถูกตัดขาด โดยน้ำที่ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่ยังค้างทุ่ง ไหลลงสู่แม่น้ำชีอย่างต่อเนื่อง    
      สถานการณ์น้ำในภาพรวม ที่ จ.มหาสารคาม เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ 2,503.73 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 102.98 % ระบายน้ำ 13.31 ล้าน ลบ.ม./วัน โดยจะปรับลดการระบายลงตามลำดับส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ จ.มหาสารคาม 17 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 77.47 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 95.15 % อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของโครงการชลประทาน ทั้ง 6 แห่ง หยุดการสูบน้ำแล้ว เนื่องจากระดับน้ำลดลง สามารถเปิดบานระบายน้ำที่ อ.โกสุมพิสัย ได้ 2 จุด คือ ประตูห้วยน้ำเค็มและห้วยเชียงส่ง ซึ่งระบายน้ำได้ดี หลังจากนี้จะควบคุมการเปิดบานระบายและรักษาระดับน้ำไว้ใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้งต่อไป
       ที่ อ.โกสุมพิสัย เกษตรกรเริ่มมีการปรับพื้นที่ เตรียมเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมวางแผน กักเก็บน้ำในบึงกุย เพื่อใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอ เบื้องต้นจะร่วมกับจิตอาสา ในการวางกระสอบทราย เสริมความแข็งแรง ระยะทางประมาณ 70 ม.เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ ส่วนถนนตลอดแนวลำน้ำชี ที่ได้รับความเสียหายหนักหลายจุด ได้ประสาน อบจ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีการลงพื้นที่สำรวจแล้ว พบว่าสภาพถนนยังเป็นดินเลน คาดว่าอีก 2 สัปดาห์ จะสามารถนำเครื่องจักรเข้าดำเนินการได้
       ที่ อ.กันทรวิชัย เริ่มมีการทำความสะอาด ฟื้นฟูสถานที่หลังน้ำลด เช่น ทางลอดใต้สะพาน อุโมงค์ท่าขอนยาง ได้สูบน้ำออกหมดแล้ว อยู่ระหว่างการทำความสะอาด ก่อนจะเปิดใช้งานได้ตามปกติในวันนี้ รวมถึงถนนระหว่างหมู่บ้านต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วม หลายหน่วยงานและจิตอาสา ได้ร่วมใจกันทำความสะอาด เก็บสิ่งกีดขวาง และคืนพื้นผิวจราจร ให้ประชาชนสัญจรได้สะดวก ส่วน อ.เชียงยืน กุดรัง และ อ.เมืองมหาสารคาม เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน  
      นายเกียรติศักดิ์ฯ ผวจ.มหาสารคาม กล่าวว่า หลังน้ำลด ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การระบายน้ำต้องเป็นไปตามแผน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ และต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอในช่วงหน้าแล้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ เริ่มเตรียมเพาะปลูกแล้ว โดยสัปดาห์หน้า ศูนย์ขยายพันธ์พืชที่ 7 มหาสารคาม ร่วมกับทางจังหวัด จะ มอบเมล็ดพันธ์พืชให้กับผู้ประสบอุทกภัยได้นำไปเพาะปลูก สร้างรายได้ ฟื้นฟูอาชีพ หลังน้ำลด พร้อมฝากถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันที่ 28 พ.ย.นี้ บางจุดอาจย้ายหน่วยเลือกตั้ง เนื่องจากน้ำท่วม ขอให้ดำเนินการอย่างสุจริตโปร่งใส ช่วงนี้อากาศเย็นลง ต้องแจ้งเตือนภัยหนาว การดูแลสุขภาพ และระวังอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้น
สุรเดช/ข่าว/26 พ.ย.64

 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar