วิทยุออนไลน์

หากฉันมาเสพตึก เพราะ Hundred Years Between ฉันจึงพบ โรงภาษีร้อยชักสาม

ครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาสได้ไปชมงาน Bangkok Design Week 2020 ในเขตที่งานอาร์ตมาวนเวียนจัดโชว์บ่อยๆ อย่างย่าน เจริญกรุง และเพราะเจริญกรุงคือความเจริญของอดีตกรุงเทพฯ มันจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย และครั้งนี้ก็เป็นที่ตั้งของเรื่องราว Hundred Years Betweenนิทรรศการภาพถ่ายที่ค้นหาร่องรอยแห่งกาลเวลา โดยท่านผู้หญิงใหม่ เจนเซน ในฐานะศิลปินรับเชิญเนื่องในวาระครบรอบ 115 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-นอร์เวย์ การบันทึกภาพครั้งนี้ท่านผู้หญิงเดินทางตามรอยเส้นทางเสด็จประพาสรัชกาลที่ 5 ค้นหาร่องรอยแห่งกาลเวลาที่อาจถูกรักษาไว้ในอ้อมกอดของธรรมชาติ พร้อมทั้งค้นคว้าพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดา อย่างละเอียด
แต่นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของผม หลังจากได้เข้าไปชมนิทรรศการผมกลับหลงไหลต่ออีกสิ่ง ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า โรงภาษีร้อยชักสาม หรือ ศุลกสถาน สถาปัตยกรรมริมแม่น้ำเจ้าพระยาอายุกว่า 130 ปี ที่พิเศษคือการได้เข้าเยี่ยมชมนี้จะเป็นการบันทึกภาพจำก่อนที่จะรีโนเวทครั้งใหญ่ยาวไปอีก 6 ปี ที่มาของชื่อ โรงภาษีร้อยสามชัก มาจากการเก็บภาษีในเวลานั้นที่มีการค้าขายกับชาวต่างชาติ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) หรือ พระยาสยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ ที่เข้ามาทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ว่าด้วยเรื่องภาษี 100 ส่วน เก็บภาษี 3 ส่วน (ภาษีร้อยชักสาม) โรงภาษีของหลวงแห่งแรกในกรุงเทพฯ อยู่ที่ปากคลองผดุงกรุงเกษม (บริเวณอาคาร River City ในปัจจุบัน) ต่อมาได้ย้ายมาที่อยู่ปัจจุบัน เนื่องจากเจริญกรุงเป็นย่านการค้า พื้นที่ริมน้ำนี้จึงได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางด้านภาษี ทั้งขาเข้าและส่งออก

นี่จึงเป็นที่มาของชื่อตึก ส่วนสถาปัตยกรรมด้านในจากที่ได้สัมผัสก็ต้องบอกว่าคลาสสิก จนต้องไปหาข้อมูลต่อจากบทความต่างๆ จนำด้รูปว่ารูปแบบของอาคารมีที่มาจาก อิทธิพลจากในช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 5 เสด็จทอดพระเนตรความเจริญจากสิงคโปร์ ชวา อินเดีย จึงมีพระราชดำริอยากให้พระนครมีความทันสมัย ประจวบเหมาะกับการเข้ามาของกราซซี (โยอาคิม กราซซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวอิตาเลียน) ผู้ออกแบบโรงภาษีร้อยชักสาม ชายชาวอิตาลี 2 พี่น้อง สร้างมาหลายอาคาร วัด โบสถ์ ทั้งแบบคลาสสิกและโกธิก ไปจนถึงตึกเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญ คุกมหันตโทษ ฯลฯ แต่ผลงานการออกแบบที่ของเค้าที่รอดพ้นการปรับปรุงใหม่และแทบไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมเลย คือศุลกสถาน รูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิคแบบพัลลาเดียน (Palladianism) มีลักษะเด่นคือความสมมาตรของอาคาร เน้นความสำคัญของส่วนโถงหลักในอาคารให้มีความโอ่โถงยิ่งใหญ่ และใช้องค์ประกอบการตกแต่งแบบกรีก-โรมันในสัดส่วนที่งดงามลงตัว

จุดเด่นของอาคารโรงภาษีร้อยชักสามในปัจจุบัน คือรูปทรงเรียบง่าย คล้ายกระทรวงกลาโหมที่ไม่มีกันสาด หลังคาแบบกระเบื้องจีน ด้านตะวันตกเป็นทางเดิน แดดส่องไม่ถึงห้องด้านใน ส่วนตรงกลางขึ้นไปถึงชั้นสี่ ห้องภายในแบ่งเป็นห้องเล็ก-ใหญ่-เล็ก สลับไปเรื่อยๆ บนยอดสุดของหลังคาจั่วมุขหน้าอาคารศุลกสถาน ยังคงปรากฏตราแผ่นดินของสยามที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปแบบยุโรปและเป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้องค์ประกอบจะผุกร่อนทรุดโทรมไปบ้าง แต่พอเห็นได้ว่าเป็นรูปราชสีห์ คชสีห์ เชิญฉัตร 7 ชั้น นี่คือความงดงามในอดีตที่แสดงถึงความทันสมัยตามยุค อนาคตตึกนี้จะกลายเป็น โรงแรม สักอย่าง การได้เข้ามาเห็นด้วยตาครั้งนี้จึงเป็นอะไรที่ตราตรึงในดวงใจความครั้งนึงก็เคยได้สัมผัสประวัติศาสตร์ด้วยตัวเองแล้ว จุดที่ผมชอบที่สุดคงจะเป็นโถงก่อนขึ้นบันไดไปชั้น สองของอาคารมันให้ความรู้สึกเปิดรับและยินดีที่ได้เข้ามา ก็ได้แต่หวังว่าวิวัฒนาการของตึกหลังนี้จะยังคงเสน่ห์ได้ต่อไป ยินดีที่ได้พบโรงภาษีร้อยชักสาม แล้วเจอกันเมื่อเราเจอกัน


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar