วิทยุออนไลน์

สถานการณ์น้ำ ที่ จ.มหาสารคาม เริ่มคลี่คลายตามลำดับ เน้นย้ำทุกหน่วยงานให้การช่วยเหลือเยียวยาอย่างทั่วถึง และโปร่งใส

     ที่ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.มหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์  ตรงศิริ  ผวจ.มหาสารคาม พร้อมด้วย นายธรรมนูญ แก้วคำ รอง ผวจ.มหาสารคาม ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 19 พ.ย.2564 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.โกสุมพิสัย 13 ตำบล 117 หมู่บ้าน,อ.กันทรวิชัย 7 ตำบล 103 หมู่บ้าน,อ.เมืองมหาสารคาม 5 ตำบล 44 หมู่บ้าน,อ.เชียงยืน 4 ตำบล 22 หมู่บ้าน,อ.กุดรัง 1 ตำบล 4 หมู่บ้าน ,ที่นา 128,235 ไร่ มีหมู่บ้านถูกตัดขาด 2 อำเภอ 4 ตำบล 12 หมู่บ้าน  
      สถานการณ์น้ำในภาพรวม ที่ จ.มหาสารคาม ระดับน้ำลดลง น้ำที่ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำไหลลงสู่แม่น้ำชีอย่างต่อเนื่อง และเริ่มคลี่คลายตามลำดับ ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำ 2,617 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 107.66 % โดยคงการระบายน้ำวันละ 18 ล้าน ลบ.ม.ด้านโครงการชลประทาน ยังเดินเครื่องสูบน้ำในพื้นที่รับผิดชอบ ปริมาณน้ำลดลงตามลำดับ โดยจะขอขยายระยะเวลาในการเดินเครื่องสูบน้ำไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ย.นี้ เมื่อน้ำลดจนได้ระดับ จะควบคุมการเปิดบานระบายและรักษาระดับน้ำไว้ใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้งต่อไป 
       ที่ อ.โกสุมพิสัย ระดับน้ำลดลงแล้วทุกพื้นที่ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ และไม่มีหมู่บ้านถูกตัดขาด โดยหลังน้ำลดพบว่าถนนหลายสายได้รับความเสียหาย เช่น ถนนรอบบึงกุย คอสะพานขาด บางจุดเป็นหลุมลึก ได้ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้าสำรวจซ่อมแซม ส่วนพื้นที่ อ.กันทรวิชัย ยังเหลือพื้นที่ถูกตัดขาด 7 หมู่บ้าน ถนน 6 สาย ใน ต.มะค่า ขามเรียง และเขวาใหญ่ แต่ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง,อ.เมืองมหาสารคาม ยังเหลือพื้นที่ถูกตัดขาดที่ บ.ท่าค้อ ต.ลาดพัฒนา จุดอื่นสามารถสัญจรได้แล้ว เตรียมทำความสะอาด คืนสภาพผิวจราจรภายใน 1-2 วันนี้ ส่วน อ.กุดรัง ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมให้การช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบของทางราชการต่อไป
       นายเกียรติศักดิ์ฯ ผวจ.มหาสารคาม กล่าวว่า ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ ขอให้บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงหน้าแล้ง พร้อมเน้นย้ำทุกอำเภอดำเนินการหลังน้ำลด สำรวจความเสียหาย โดยเฉพาะถนนที่ชำรุด ให้แก้ไขเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน จุดที่เสียหายหนัก เสี่ยงอันตรายให้ติดป้ายแจ้งเตือน และประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้าประเมินเพื่อซ่อมแซมหรือของบประมาณ รวมถึงการทำความสะอาดสถานที่ กระสอบทราย สิ่งกีดขวาง วัสดุตกค้างบนไหล่ทาง เพื่อคืนพื้นผิวจราจร ต้องบูรณาการความร่วมมือกันทุกหน่วยงานและจิตอาสา ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาทุกด้าน ให้เป็นไปอย่างทั่วถึง ดำเนินการตามระเบียบ ขั้นตอนด้วยความสุจริต โปร่งใสและใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด
สุรเดช/ข่าว/19 พ.ย.64


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar