(13 ก.ย.66) ที่ ห้องประชุมสันตรัตน์ โรงแรมตักสิลา อ.เมืองมหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผวจ.มหาสารคาม เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เวทีที่ 2 กลุ่มจังหวัด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพื่อชี้แจงความเป็นมาของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่สูงสุด โดยหวังเป็นเครื่องมือแก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม โดยมี นายเธนศ ดิษฐปัญญา ผอ.กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน นายเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผน) น.ส.ลภิณโกฬร์ จาตะวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์เศรษฐกิจโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ นายชลศักดิ์ สุขี ผอ.โครงการชลประทานมหาสารคาม นายสรายุทธ ช่วยชาติ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สถาบันการศึกษา สภาเกษตรกร กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ สื่อมวลชน และประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม
สำหรับความเป็นมาของโครงการ สืบเนื่องจากที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีมาอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ตอนบนมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ตอนกลางและตอนล่างมีการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำชี โดยลักษณะอาคารมีทั้งอาคารแบบที่สามารถควบคุมได้และไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำชี ทั้งในสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้ง ลุ่มน้ำชีมีพื้นที่ 49,273 ตร.กม. หรือ 30.79 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 11,257 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี มีศักยภาพเก็บกักน้ำโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง จำนวน 5,687 ล้าน ลบ.ม.การพัฒนาแหล่งน้ำที่ผ่านมามีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่อนุรักษ์และผลกระทบต่อที่ทำกินของราษฎรทำให้ปริมาณน้ำที่ไม่สามารถเก็บกักได้ไหลลงสู่ลำน้ำหลักคือน้ำชีและไหลลงด้านท้ายน้ำสู่น้ำมูลโดยไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ประกอบกับแม่น้ำชีตั้งแต่บริเวณด้านท้ายอ่างเก็บน้ำลำชี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถึง เขื่อนยโสธร-พนมไพร ในเขตพื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร มีสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยในการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำได้
ในปี 2566 - 2567 กรมชลประทาน จึงได้มอบหมายให้บริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ศุภฤกษ์ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด และบริษัท ออโรส จำกัด ดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาคารบังน้ำในลำน้ำชี เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำให้กับการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงเป็นการป้องกันบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ในเขตจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร ซึ่งมีขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย การศึกษาแผนหลักการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การศึกษาความเหมาะสม การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การศึกษาด้านเศรษฐกิจ-สังคม การศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน มีระยะเวลาดำเนินการศึกษา 540 วัน (30 มิถุนายน 2566 ถึง 20 ธันวาคม 2567)
โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการเกษตรและกิจกรรมการใช้น้ำอื่นๆ ของชุมชน เสริมความมั่นคงของแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ช่วงฤดูน้ำหลาก ลดความถี่ของการเกิดความเสี่ยงปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่โครงการ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในเขตพื้นที่โครงการและพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต
สุรเดช/ข่าว/13 ก.ย.66